ตอนที่2 เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในชุดนักเรียนญี่ปุ่นที่คุ้นตา
เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในชุดนักเรียนญี่ปุ่นที่คุ้นตา
ชุดนักเรียนเป็นสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเมื่อพูดถึงญี่ปุ่น และถือเป็นชุดที่ได้กลายเป็นภาพจำของทั่วโลกไปแล้ว
นอกจากชุดแบบร่วมสมัยที่คล้ายๆกับฝั่งเกาหลีและจีนแล้ว ยังมีชุดแบบเก่าที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง
ของญี่ปุ่นอีกด้วยแต่เคยสงสัยไหมว่าชุดแบบเก่านี้ได้ต้นแบบมาจากอะไร และมีความเป็นมายังไง
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับชุดนี้เพิ่มกันอีกซักนิด
ชุดแบบเก่านี้ทั้งชายและหญิงจะมีชื่อเรียกและความเป็นมาที่ต่างกัน
โดยชุดนักเรียนชายจะเรียกว่า กัคคุรัน(学ラン)เป็นชุดแขนยาวสวมทับ มีกระดุมใหญ่ๆ กางเกงขายาว
ทั้งชุดจะสีดำหรือสีกรมท่าขึ้นอยู่กับโรงเรียน ชุดนี้ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886 โน้นเลย และที่ที่นำมาใช้ครั้งแรกคือ
มหาวิทยาลัยโตเกียวที่เรารู้จักกันดี และภายหลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในระดับอื่นๆ
ชุดนี้จริงๆแล้วออกแบบมาให้ดูเหมือนกับชุดทหารบกของฝั่งตะวันตกเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยในตอนนั้น
และจากค่านิยมในสมัยก่อนการใส่ชุดแนวตะวันตกยังแสดงถึงความเป็นหัวกะทิอีกด้วย
(คำว่า รัน「ラン、蘭」 ย่อมาจาก รันฟุกุ「蘭服」 ซึ่งเป็นคำที่คนญี่ปุ่นสมัยก่อนใช้เรียกเสื้อผ้าแบบตะวันตก)
คราวนี้เรามาดูฝั่งนักเรียนหญิงกันบ้าง นั่นคือ เซร่าฟุกุ(セーラー服)หรือชุดกะลาสี
คำว่า เซร่า เป็นวิธีการออกเสียง Sailor แบบทับทัพในภาษาญี่ปุ่น)
ชุดนี้จะเริ่มใช้ช้ากว่าฝั่งนักเรียนชายนิดหน่อย ประมาณช่วงปลายยุคเมจิ หรือ ประมาณปี ค.ศ. 1920
และเป็นชุดที่ได้รับการออกแบบมาให้เหมือนกับชุดกะลาสีของอังกฤษ
แต่ทำไมถึงเป็นอังกฤษล่ะ?
นั่นเพราะช่วงหลังจากปฏิวัติสมัยเมจิ ญี่ปุ่นได้พยายามรับวัฒนธรรมและแนวคิดใหม่ๆจากฝั่งตะวันตก
เพื่อเอามาพัฒนาและปรับใช้กับตัวเอง รวมถึงแฟชั่นต่างๆที่กำลังเป็นที่นิยมในสมัยด้วย
ชุดกะลาสีเองก็หนึ่งในแฟชั่นที่มาแรงมากๆในตอนนั้น สังเกตุได้จากเวลาดูหนัง ซีรี่ส์ที่มีเซตติ้งย้อนยุค
ของฝั่งตะวันตกหรือแม้แต่ภาพโฆษณาสินค้าเก่าๆ เรามักจะเห็นเด็กๆทั้งชายหญิงใส่ชุดกะลาสีกันอยู่บ่อยๆ
ว่ากันว่าดีไซน์ของชุดนี้จริงๆแล้วออกแบบมาเพื่อให้ช่วยทำให้เคลื่อนไหวในน้ำได้คล่องตัว และไม่จมน้ำ
แต่มันกลับดูน่ารักในสายตาคนธรรมดาซะอย่างงั้น
ในญี่ปุ่นที่ที่เอาชุดนี้มาใช้ชุดนี้มาใช้กับนร.หญิงเป็นที่แรกก็คือ โรงเรียน St. Agnes (平安女学院)
ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์ในเกียวโตด้วยเหตุผลที่ว่าชุดนี้ทำให้นักเรียนขยับตัวได้คล่องและสามารถหนีภัยพิบัติต่างๆ
ได้ทุกเมื่อนั่นเอง จากนั้นแนวคิดนี้ได้ถูกเอาเป็นแบบอย่างและขยายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา
ถ้าคิดๆดูแล้ว ทั้งสองชุดนี้ก็ถือเป็นสัญญลักษณ์ของการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกของชาวญี่ปุ่น
และส่งต่อ pop-culture ต่างๆมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นชุดที่มีเรื่องราวเยอะมากๆ
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ชุดแบบเก่าสองชุดนี้ก็เริ่มเห็นได้น้อยลงทุกวันๆ จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เครดิตภาพ https://oekaki-zukan.com/articles/22140