ตอนที่6 ทำไมพ่อแม่ญี่ปุ่นถึงปล่อยให้ลูกเดินไปโรงเรียนเอง?
ทำไมพ่อแม่ญี่ปุ่นถึงปล่อยให้ลูกเดินไปโรงเรียนเอง?
หลายคนคงตกใจไม่น้อยตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกๆ ที่ได้เห็นเด็กๆตัวเล็กตัวน้อย ใส่หมวก สะพายกระเป๋า
บางคนก็หิ้วกระติกน้ำ กำลังเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวคนเดียวหรือไปกันเป็นกลุ่มโดยไม่มีผู้ใหญ่เลย
หากมองจากสายตาชาวต่างชาติแล้วอาจจะเกิดคำถามว่า ผู้ปกครองไปไหน ปล่อยเด็กเดินอยู่คนเดียวแบบนี้ได้ยังไง ไม่กลัวอันตรายบ้างเหรอ
แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น และถือเป็นแบบทดสอบสำคัญที่เด็กๆทุกคนจะต้องผ่านไปให้ได้
อะไรที่ทำให้ผู้ปกครองวางใจให้เด็กๆทำเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเองกันล่ะ แล้วสังคมคาดหวังอะไรกับการทดสอบบทนี้
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักวัฒนธรรมนี้เพิ่มกันอีกซักนิด
ก่อนอื่นเลยต้องมาทำความรู้จักระบบการดูแล และ ความปลอดภัยของญี่ปุ่นกันก่อน
โดยส่วนมากแล้วการเดินทางไปโรงเรียนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ
คือเดินแบบกลุ่ม และ แบบเดี่ยว แล้วแต่ว่าโรงเรียนจะกำหนดใช้รูปแบบไหน
การเดินแบบกลุ่ม จะเป็นการจัดกลุ่มเด็กที่อยู่ใกล้กันและให้เดินตามเส้นทางที่โรงเรียนกำหนดไว้
และจะมีเด็กที่อายุมากสุดเป็นคนเดินนำแถว และ คอยดูแลรุ่นน้องไปด้วย ถือเป็นระบบที่ผู้ปกครองสามารถวางใจได้ในระดับนึงเลยทีเดียว
การเดินแบบเดี่ยว ก็ตามชื่อ คือการเดินไปด้วยเองโดยไม่ได้ใช้เส้นทางที่โรงเรียนกำหนดให้
ถึงจะเรียกว่าเดินแบบเดี่ยวแต่ก็มีบ่อยครั้งที่ เด็กๆมักจะหากลุ่มเพื่อน หรือ เด็กในโรงเรียนเดียวที่อาศัยอยู่ใกล้ๆแล้วเดินไปด้วยกัน
ในบางโรงเรียนก็จะให้ผู้ปกครองติดต่อกันเพื่อสร้างกลุ่มเล็กๆขึ้นและให้เด็กๆไปโรงเรียนด้วยกันอีกด้วย
เรียกได้ว่าทำให้ทั้งๆเด็กและผู้ปกครองในระแวกนั้นสนิทกันโดยอัตโนมัติ และเป็นจุดเริ่มต้นของแก็งค์แม่ๆญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
ไม่ว่าเด็กๆจะต้องเดินทางในรูปแบบไหน สิ่งที่สำคัญมากๆก็คือเรื่องความปลอดภัยระหว่างทาง
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ญี่ปุ่นจัดการได้ค่อยข้างดีและน่าสนใจมาก ถ้ามีโอกาสได้ออกมาเดินเล่นช่วงเช้าๆตอนไปญี่ปุ่น
อาจจะเคยเห็นคุณลุง คุณป้าใส่เสื้อกั๊ก หรือ ถือป้ายนำทาง คอยยืนเฝ้าตามทางกันบ้าง
ใช่แล้ว ผู้คนเหล่านั้นคืออาสาสมัครดูแลเด็กนักเรียนในพื้นที่นั่นเอง
โดยทางเขตจะรับสมัครคนที่มาคอยดูแลความปลอดภัยหรือช่วยเหลือเด็กๆตามเส้นทางหรือ ตามจุดต่างๆที่มีเด็กเดินผ่านกันเยอะๆ
บ้างก็จะขับรถหรือจักรยานคอยตรวจสอบความปลอดภัย หรือ เช็คว่ามีเด็กคนไหนหลงทางอยู่หรือเปล่าด้วย
นอกจากจะเป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้สำหรับการเดินทางของเด็กๆแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำ
และได้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กๆให้ปลอดภัยไปในเวลาเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นค่อนข้างมั่นใจในการส่งลูกๆเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองนั่นเอง
แล้วเรื่องการเดินไปโรงเรียนเองนี้มีเป้าหมายอะไรกันล่ะ?
คำตอบนั้นง่ายมาก ค่านิยมและวัฒธรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเด็กๆ และปลูกฝังความคิดที่ว่าจะต้องเริ่มทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง
นอกจากนั้นการที่ได้รับความช่วยเหลือเวลามีปัญหาระหว่างทาง คือการที่เด็กจะได้เห็นว่าสังคมให้ความสำคัญกับตัวเองมากแค่ไหน
เป็นการแสดงให้เห็นว่า ตัวเองก็เป็นหนึ่งเดียวกับสังคมด้วยเช่นกัน
หากจะเรียกว่านี่เป็นรากฐานและบททดสอบแรกที่สำคัญสำหรับเยาวชนญี่ปุ่นก็คงจะไม่เกินไป
อ้างอิง
https://www.homemate-research-elementary-school.com/useful/11224_eleme_049/
https://bigissue-online.jp/archives/1074130106.html
https://toyokeizai.net/articles/-/271062