เมื่อพูดถึงวันไหว้บรรพบุรุษ เราคงจะคุ้นเคยกับวันเซ็งเม้งเป็นอย่างดีไม่ว่าจะมีเชื้อสายจีนหรือไม่ก็ตาม และก็ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่คนในครอบครัวจะได้กลับมาเจอกันและใช้เวลาร่วมกันในวันหยุด ญี่ปุ่นเองก็มีเทศกาลแบบนี้เช่นกัน ซึ่งก็คือ วันโอบง ในช่วงวันที่ 13 – 16 สิงหาคม ของทุกๆปีนั่นเอง (บางภูมิภาคก็จะมีความแตกต่างกัน) เทศกาลนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง วันนี้เราจะมาดูไปด้วยกัน

 

 Creditภาพ: https://www.jalan.net/news/article/459976/

 

โอบง เค้าทำอะไรกันบ้าง?

ต้องเท้าความก่อนว่าถึงแม้เดิมที่แล้วโอบงก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธนิกายมหายานของจีน แต่เนื่องจากมีการผสมกับวัฒนธรรมพื้นบ้านและวิถีการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น จึงทำให้สิ่งที่ต้องทำนั้นค่อนข้างแตกต่างกันมาก

แต่คอนเซ็ปหลักๆก็จะคล้ายกัน คือการต้อนรับบรรพบุรุษที่จะกลับมาเยี่ยมครอบครัว การขอพรและรับสิ่งดีๆจากบรรพบุรุษ และส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับไปอย่างปลอดภัย มาดูกันว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำยังไงบ้าง

การเตรียมตัวนั้นจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งก็คือการทำความสะอาดที่รำลึกไม่ว่าจะเป็นอัฐิ หรือ หิ้งบูชาให้สะอาด จากนั้นก็เตรียมพาหนะที่บรรพบุรุษจะใช้เดินทางไปมา ซึ่งในที่นี้ก็จะใช้เป็น แตงกวา หรือ มะเขือม่วงที่ถูกเอาไม้มาเสียบให้เป็นขา 4 ข้าง เพื่อให้เหมือนม้าและวัวที่พวกเราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างนั่นเอง


และต่อไปสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การจุดไฟไว้หน้าบ้านตัวเองพร้อมเตรียมของไหว้เอาไว้ที่อัฐิหรือรูปที่ใช้รำลึกถึงบรรพบุรุษ เพื่อเป็นการบอกบ้านให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับกลับมา โดยไฟนี้จะเรียกว่า มุกาเอะยิ (迎え火) หรือ ไฟต้อนรับ ซึ่งขนาดเล็กหรือใหญ่นั้นก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของแต่ละบ้าน และจะจุดในช่วงค่ำๆของวันที่ 13 สิงหาคม

 

หลังจากนั้นในวันที 14 และ 15 ก็จะเป็นช่วงที่ครอบครัวใช้เวลาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดหลุมศพด้วยกัน หรือ การเต้นรำบงโอโดริที่จะขึ้นในชุมชน หรือร่วมงานสังสรรค์ต่างๆที่จะจัดขึ้นในช่วงนี้

 

จนถึงวันที่ 16 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย (วันสุดท้ายอาจจะแตกต่างกันตามพื้นที่) ก็จะมีการไปส่งดวงวิญญาณให้กลับไปอย่างปลอดภัยด้วยการลอยโคมไปในแม่น้ำ หรือ บางที่อย่างเกียวโตก็จะมีการจุดคบไฟบนภูเขาให้เรียงกันเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งอีกด้วย

 

creditภาพ: https://lovegreen.net/

สุดท้ายนี้ถึงปัจจุบันคนญี่ปุ่นที่บอกว่าตัวเองนับถือศาสนาจะลดน้อยลง และเทศกาลโอบงก็ถือว่ามีรากมาจากศาสนาพุทธแต่ก็ยังเป็นเทศกาลที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงทำกันอยู่ โดยเฉพาะแถบต่างจังหวัดต่างๆ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เทศกาลนี้มีมาอย่างยาวนานจนซึมลึกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนไปแล้ว และยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนาน