ตอนที่7 อาหารกลางวันของโรงเรียนประถมญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ให้แค่ความอิ่มท้อง

อาหารกลางวันของโรงเรียนประถมญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ให้แค่ความอิ่มท้อง

   อาหารกลางวันที่โรงเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆสำหรับเด็กๆในวัยกำลังโต และเป็นช่วงเวลาที่เด็กทุกคนรอคอย
เพราะจะได้พักหลังจากนั่งเรียนมาตั้งแต่เช้า ญี่ปุ่นเองก็ไม่ต่างกัน

อาหารกลางวันถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆตั้งตารอ

   แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากความอิ่มอร่อยแล้ว อาหารกลางวันของโรงเรียนประถมยังแฝงอย่างอื่นไว้ด้วย
เราจะมาดูกันว่าสิ่งนั้นคืออะไร และส่งผลอะไรต่อเด็กๆบ้าง

   อย่างที่ทราบกันดี หากพูดถึงอาหารกลางวันของโรงเรียนญี่ปุ่นแล้ว ทุกคนอาจจะนึกถึงภาพกล่องเบนโตะ หรือ ปิ่นโต
ที่นักเรียนแต่ละคนจะเอานำมาจากบ้านแล้วมาทานด้วยกันช่วงพักกลางวัน หรือการวิ่งแข่งกันไปซื้อขนมปังจากร้านที่มาขายในโรงเรียน
หรือบางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนประจำก็จะมีโรงอาหารไว้ให้นักเรียนมาทานแต่ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศของนักเรียนระดับมัธยมต้นขึ้นไปเท่านั้น 
สำหรับนักเรียนประถมศึกษาลงมาจะเป็นเรื่องราวที่แตกต่างออกไปโดยส่วนมากแล้วโรงเรียนประถมของญี่ปุ่นจะใช้ระบบ
ให้กลุ่มนักเรียนที่รับได้มอบหมายเป็นเวนของแต่ละวัน
นำอาหารจากครัวกลางมาจัดโต๊ะและแจกจ่ายให้กับคนในห้องเรียนด้วยตัวเอง

   แน่นอนว่าอาหารในแต่วันจะถูกคำนวณสารอาหารมาอย่างดีเพื่อให้เด็กได้ทานอาหารครบห้าหมู่ และมีพลังงานที่เพียงพอ
โดยในบางโรงเรียนก็จะนำ มันฝรั่ง มะเขือเทศ หรือผักอื่นๆที่นักเรียนได้ปลูกเองในวิชาเรียนมาเป็นส่วนประกอบอีกด้วย
นอกจากจะเป็นการสอนเรื่องหลักโภชนาการพื้นฐานและปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องแล้ว ยังเพื่อแสดงให้เห็นว่า
กว่าจะมาเป็นอาหารในจานนั้นต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง
หรือแม้กระทั่งการเปิดโอกาสให้นักเรียนในห้องได้ร่วมมือกันและสนิทสนมกันมากขึ้นอีกด้วย

   หลังจากทานเสร็จนักเรียนทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำความสะอาดโต๊ะ ล้างจาน เก็บจาน แยกขยะด้วยตัวเอง
ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบและให้รู้จักทำหน้าที่ของตัวเองนั่นเอง
เรียกได้ว่าเป็นการใช้ช่วงเวลาสั้นๆของแต่ละวันได้อย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์กับเด็กๆอย่างมาก

   โดยระบบอาหารกลางวันแบบนี้ได้เริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่สมัยช่วงปลายยุคเมจิ หรือประมาณปี 1800 ปลายๆ ในจังหวัดยามางาตะ
และได้ขยายไปเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วประเทศ(学校給食法)ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคโชวะ ในปี 1954
ด้วยสภาพประเทศที่กำลังฟื้นฟูจากสงครามทำให้ทางรัฐต้องการให้เด็กนักเรียนได้รับคุณภาพที่ชีวิตที่เท่าเทียมและดีขึ้น

   จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนอย่างมากโดยเฉพาะเด็กเล็กมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
และยังถือว่าเป็นแนวปฏิบัติที่หลายประเทศยอมรับ อีกทั้งยังถูกนำไปเป็นแบบอย่างอีกด้วย
เรื่องการใส่ใจในทุกจุดและใช้สิ่งที่มีอย่างคุ้มค่าเพื่อคุณภาพชีวิตของเด็กๆนั้นถือเป็นอีกจุดเด่นของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

อ้างอิง 
http://www.noboribetsu.ed.jp/~msc/tsuite.htm