ตอนที่16 ดารุมะ ตุ๊กตาที่ไม่ได้กลมแค่รูปร่าง
ตุ๊กตาดารุมะ กลมๆสีแดงที่ใบหน้าดูขึงขังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยกันอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องรางชื่อดังแล้ว สื่อหลายๆอย่างยังได้นำดีไซน์หรือคอนเซปต์ของดารุมะไปใช้กันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซีรี่ส์ อนิเมะ มังงะ หรือภาพยนต์ญี่ปุ่น ในบางสื่อก็ได้มีการตีความเรื่องราวแบบใหม่ หรือ เอามาเป็นส่วนผสมในการเล่าเรื่อง
และแน่นอนว่าตุ๊กตาดารุมะเองก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมเก่าหลายๆอย่างของญี่ปุ่น มาจนถึงทุกวันนี้
Photo by Ryutaro Tsukata from Pexels
แต่รู้กันไหมว่าเดิมทีแล้วดารุมะคือใคร และมีเรื่องราวอะไรบ้างก่อนจะเป็นรูปแบบในทุกวันนี้
เราจะมาทำความรู้จักกับตุ๊กตาดารุมะเพิ่มกันอีกหน่อย
หากเล่าประวัติคร่าวๆแล้ว ตุ๊กตาดารุมะ นั้นได้ต้นแบบมาจาก โบะไดดารุมะ (菩提達磨)หรือ ดารุมะไดชิ (達磨大師)โดยในบ้านเราจะรู้จักกันในชื่อ พระโพธิธรรม ซึ่งเป็นพระภิกษุที่มีต้นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย แต่ต่อมาได้จาริกไปเผยแพร่ศาสนาที่จีน และเป็นผู้ก่อตั้งนิกายเซนในประเทศจีนในเวลาต่อมานั่นเอง โดยมีตำนานมากมายที่เล่าถึงความอดทนและความพยายามในการฝึกตนของพระรูปนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ 7วันติดต่อกัน นั่งจ้องผนังถ้ำเพื่อเป็นการฝึกสมาธิ หรือกระทั่งการยอมตัดหนังตาตัวเองเพื่อไม่ให้หลับตอนทำสมาธิ แถมหนังตาที่ตกไปบนพื้นยังเติบโตกลายเป็นต้นชาต้นแรกให้พระในนิกายเซนได้ดื่มเพื่อกันง่วงอีก
เรียกได้ว่าตำนานของโบะไดดารุมะนั้นถูกเล่าต่อกันมาอย่างสุดโต่งมากๆ ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเรื่องราวพวกนี้เป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนต้องการจะสื่อเรื่องความอดทน ความพยายามไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ซึ่งถูกใช้เป็นตัวเพิ่มความน่าเลื่อมใสให้นิกายเซน ในยุคสมัยที่การเผยแพร่ศาสนามีการแข่งขันสูง และโบะไดดารุมะเองก็ยังไม่ได้ถูกยืนยันว่ามีตนตัวจริงๆในประวัติศาสตร์
Credit:https://obikake.com/column/q457/
จากตำนานเหล่านี้หลังจากที่นิกายเซนเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่น ก็เริ่มมีพ่อค้าที่เริ่มทำตุ๊กตาดารุมะขึ้นเพื่อเป็นสินค้า โดยการทำตุ๊กตาดารุมะนั้นมีหลักฐานให้เห็นตั้งแต่ยุคเอโดะ หรือ ประมาณปีค.ศ.1600เป็นต้นมา
ในช่วงแรกนั้นจะเชื่อกันว่าหากมีดารุมะไว้ก็จะช่วยเรื่องการค้าขาย หรือ ป้องกันภัยต่างๆไม่ให้เกิดขึ้นในบ้านได้ นอกจากนั้นก็เริ่มมีการอ้างว่าสีแดงของดารุมะนั้นจะช่วยปัดเป่าโรคระบาดได้อีกด้วย เพราะสำหรับญี่ปุ่นแล้วสีแดงถือเป็นสีที่ใช้ไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆที่จะเข้ามา เรียกได้ว่าพ่อค้าในสมัยนั้นมีการโปรโมทสินค้ากันอย่างหนักหน่วงเลย และอาจจะเพราะได้เสียงตอบรับดีจึงทำให้หลายๆจังหวัดของญี่ปุ่นในตอนนั้นเริ่มหันมาทำตุ๊กตาดารุมะกันแบบจริงจังขึ้น
ในปัจจุบันตุ๊กตาดารุมะ ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบไปอีกมากมายไปตามยุคสมัย และยังคงเป็นสัญลักษณ์ของหลายๆอย่างเช่นเดิม แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคงจะเรื่องการขอพรให้สำเร็จเป้าหมายอะไรซักอย่างที่ตัวเองตั้งใจ โดยคนญี่ปุ่นจะอธิษฐานถึงเรื่องที่ต้องการจะทำให้สำเร็จและเขียนตาให้ตุ๊กตา 1 ข้างจากนั้นเมื่อสำเร็จแล้วจะเขียนตาอีกข้าง บางคนก็จะเชื่อว่าหลังจากเดิมตาครบแล้วต้องนำไปเผาที่วัดเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย
Credit:https://ameblo.jp/cocorotutaeru/entry-12440769761.html
นอกจากด้านที่เป็นสิ่งมงคลแล้ว ดารุมะก็ยังมีอีกด้านที่สื่อสมัยใหม่หยิบมาใช้ นั่นก็คือความน่ากลัวต่างๆของตำนานไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ตุ๊กตาดารุมะไม่มีแขนขา หรือ ตีความเรื่องสีแดงใหม่ว่าเป็นสีของเลือด และมักจะถูกนำเสนอให้เป็นตัวแทนของความโหดร้ายต่างๆนานาเช่นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสังคมที่จ้องมองและคอยจับผิดสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลาอย่างที่เห็นกันในหนังหรือซีรี่ส์ชื่อดังอีกด้วย เรียกได้ว่าเจ้าตุ๊กตากลมๆนี้ไม่ได้กลมแค่รูปร่าง แต่ไม่ว่าจะหยิบเอามุมมองไหนมาคิด ก็จะสามารถตีความได้น่าสนใจมากๆ และยังคงถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆแน่นอน