ตอนที่18 วัฒนธรรมชาของญี่ปุ่นที่ไม่ได้จบแค่ในถ้วย

วัฒนธรรมการดื่มชาถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับหลายๆประเทศมาเป็นเวลานาน และแต่ละประเทศก็มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสชาติ การเลือกใช้ใบชาหรือขั้นตอนการชงชา สำหรับญี่ปุ่นเองก็มีวัฒนธรรมการชงชาที่มีเอกลักษณ์และมีความลึกซึ้งมากๆ ที่เรียกว่า สะโด หรือ ฉะโด(茶道)นั่นเอง ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ มัจฉะ (抹茶)ที่หลายๆคนคลั่งไคล้กัน และในปัจจุบันมัจฉะยังถูกต่อยอดให้ไปอยู่ในอาหารการกิน เครื่องดื่ม หรือขนมอีกมากมาย เรียกได้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว

 

 

Credit:https://www.hareginomarusho.co.jp/contents/kimono/1129/

 

วันนี้เราจะขอพาย้อนกลับไปตรงจุดเริ่มต้นกันว่าวัฒนธรรมการชงชาแบบดั้งเดิมนี้เกิดมาได้ยังไง และมีอะไรน่าสนใจบ้าง

 

ก่อนอื่นเลยวัฒนธรรมการดื่มชาและชงชานั้นเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นมาเกือบพันปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ยุคคามาคุระ(鎌倉時代) หรือ ประมาณ ค.ศ.1300 ต้นๆ จากอิทธิพลของจีนนั่นเอง แรกเริ่มเลยคนที่นำชาเข้ามาในญี่ปุ่นคือพระนิกายเซนรูปหนึ่งที่เพิ่งกลับมาจีนชื่อว่า เมียวอัน เอไซ(明菴栄西)

โดยช่วงแรกที่เข้ามานั้นก็ยังไม่ได้มีขั้นตอนการชงหรือพิธีอะไรที่ซับซ้อน ส่วนมากจะเป็นแค่การนำชาแห้งมาบดเป็นผง จากนั้นผสมกับน้ำร้อนแล้วดื่มธรรมดาๆ และจะเป็นการดื่มเพื่อหวังผลจากคาเฟอีนในใบชาเพื่อให้ตื่นตัวหรือมีสมาธิมากขึ้น และยังจำกัดวงอยู่ในหมู่พระเท่านั้น

ซึ่งผงใบชาพวกนี้ก็ถูกเรียกว่า มัจฉะ(抹茶)นั่นเอง

 

หลังจากนั้น100 ปีต่อมาในยุคมุโรมาจิ(室町時代) การดื่มชาก็เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น และเริ่มมีการคิดวิธีการชงชาในรูปแบบใหม่ให้จริงจังและลึกซึ้งขึ้น ห้องชงชาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการชงชาเองก็ถูกพัฒนาขึ้นด้วย โดยในสมัยนั้นจะเรียกการชงชารูปแบบใหม่นี้ว่า วาบิฉะ (わび茶)หากพูดง่ายๆในช่วงนี้จะถือเป็นช่วงเวลาที่การดื่มชาเริ่มกลายเป็นหนึ่งในความสุนทรียะนั่นเอง

แน่นอนว่าปรมาจารย์ชาทั้งหลายก็เริ่มเกิดขึ้นมาในยุคนี้เช่นกัน ซึ่งคนที่ถือว่าดังมากๆ ก็คือ เซนริคิว(千利休)ที่นำศาสตร์ของ วาบิฉะ มาต่อยอดและทำให้สมบูรณ์และเป็นรูปแบบที่ชัดเจนจนกลายเป็นศาสตร์การชงชาของญี่ปุ่นหรือก็คือ สะโด(茶道)ในปัจจุบัน

 

 

Credit:https://rurubu.jp/andmore/article/8088

 

 

 

นอกจากนั้น ริคิว ยังถือเป็นคนคิดค้นเรื่องหลักความคิดชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง วาบิ(わび) หรือ ความงามที่มองเห็นได้ด้วยใจ และ อิจิโก อิจิเอะ (一期一会)หรือ แนวคิดที่ว่า โอกาสในการทำหรือพบเจอสิ่งตรงหน้าเราในเวลานั้นมีเพียงแค่ครั้งเดียว จึงควรจะต้องทำให้ดีที่สุด  โดยยังได้นำสองอย่างนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีชงชาอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

 

พอเวลาผ่านไปรูปแบบการชงชาของริคิวก็เริ่มมีการแตกสายเพิ่มขึ้นมากมาย จึงทำให้เกิดการดื่มชาในแบบใหม่ๆและใบชาแบบใหม่ๆเพิ่มขึ้นนอกจากมัจฉะ

เช่น เซนฉะ(煎茶)、เกียวคุโระ(玉露)、โฮจิฉะ(ほうじ茶)เป็นต้น

ซึ่งพวกนี้เนื่องจากเป็นการใช้ใบชาแห้งต้มกับน้ำร้อน เลยจะมีรสที่ไม่ขมและดื่มง่ายกว่ามัจฉะที่เป็นการผสมผงใบชากับน้ำร้อนไปตรงๆ จึงเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นจำนวนมากจนถึงทุกวันนี้

 

 

Credit:https://matcha-jp.com/jp/898

 

แต่อย่างไรก็ตามมัจฉะก็ยังถูกต่อยอดและยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ อาจจะเป็นเพราะรสชาติที่มีเอกลักษณ์และไปได้กับทุกอย่างของตัวมันเอง

 

จริงๆแล้วการเรื่องวัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่นยังมีรายละเอียดและแนวคิดที่น่าสนใจเยอะกว่านี้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขั้นตอนการชงชา มารยาทในการดื่มชา รายละเอียดของถ้วยชาต่างๆ รวมถึงเรื่องห้องที่ใช้ในการชงที่จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลให้เหมาะสมและสะดวกสบายสำหรับพิธีการชง ถือเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่เรียกได้ว่ามีความลึกได้ไม่สิ้นสุดและน่าหลงใหลมากๆ