ตอนที่23 เทศกาลฮินะและความหมายต่างๆที่ซ่อนอยู่
ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเทศกาลและวันพิเศษต่างๆ เยอะแยะมากมายในหนึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นวันที่คนรู้จักกันดีอย่าง ทานาบาตะ โอบง หรือวันเปลี่ยนฤดูกาลต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกได้ว่ามีอีเวนต์บ่อยพอๆกับบ้านเราเลย แต่ละวันก็ยังมีรายละเอียด ความหมาย รวมถึงเรื่องราวซ่อนอยู่เสมอ และเนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสจาก Soft power ของญี่ปุ่นอย่างอนิเมะเรื่อง Dress-up My Darling ที่ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกเริ่มสนใจในตุ๊กตาฮินะ และ วันเด็กผู้หญิงของญี่ปุ่นมากขึ้น รวมถึงในญี่ปุ่นเองมีกระแสที่ตุ๊กตาฮินะขายดีขึ้นเป็นเทน้ำเทท่าเหมือนกัน ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวันเด็กผู้หญิงหรือ เทศกาลฮินะ กัน
Creditภาพ: https://www.i879.com/hanablog/season/2021/02/03/10212/
วันเด็กผู้หญิงคืออะไร ?
ก่อนอื่นเลยอย่างที่หลายๆคนรู้กันดีว่าวันเด็กของญี่ปุ่นนั้นจะแบ่งเป็นสองวัน คือวันเด็กผู้หญิง(วันที่ 3 มีนาคม) และ วันเด็กผู้ชาย(วันที่ 5 พฤษภาคม) และแต่วันก็จะมีการนำเอาของที่มีความหมายมงคลสำหรับเด็กๆมาประดับตกแต่งบ้าน รวมถึงธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไป เช่นบ้านไหนมีเด็กผู้ชายก็จะนำธงปลาคาร์ป และหมวกเกราะคาบุโตะมาประดับเพื่อเป็นสิริมงคลให้เด็กๆได้เติบโตอย่างแข็งแรง เราอาจจะยกเรื่องวันเด็กผู้ชายแยกไปเล่าในโอกาสหน้า โดยวันนี้จะขอเน้นเป็นเรื่องวันเด็กผู้หญิงก่อน
เทศกาลฮินะนั้นจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 3 มีนา ของทุกปีและวันนี้เองก็มีธรรมเนียมที่จะขอพรให้เด็กผู้หญิงได้เติบโตอย่างงดงาม และแข็งแรงจึงถูกเรียกเป็นวันเด็กผู้หญิงด้วยเช่นกัน สิ่งหลักๆที่จะต้องทำในวันนี้ก็คือบ้านที่มีลูกสาวจะเอาชั้นตุ๊กตาฮินะ หรือ ตุ๊กตาเจ้าหญิงที่เก็บไว้ ออกมาตั้งเรียงเป็นชั้นๆ ในบ้าน รวมถึงดอกไม้ต่างๆออกมาประดับ การทานอาหารดีๆกับครอบครัว และการขอพรให้ลูกสาวเติบโตอย่างแรง และงดงามนั่นเอง
อิทธิพลจากจีน ?
อย่างที่ทราบกันว่าวัฒนธรรมหลายๆอย่างของญี่ปุ่นนั้นมีรากฐานมาจากจีนและถูกนำมาต่อยอดให้เป็นรูปแบบของตัวเอง เทศกาลและวันต่างๆของญี่ปุ่นก็มีไม่น้อยที่ยึดตามวันเปลี่ยนฤดูกาลที่จีนกำหนดไว้ และวันเลขคี่ที่เลขซ้ำกันกับเดือน เช่นวันที่1 มกราคม , 3 มีนาคม , 5 พฤษภาคม นั่นเอง เทศกาลนี้ก็เป็นหนึ่งในเช่นกัน โดยช่วงต้นเดือนมีนาคมนั้นก็ถือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลนี้จึงถูกใช้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูด้วยของประดับที่เด็กๆคุ้นเคยอย่างที่เล่าไปด้านบนว่าตัวเอกของวันก็คือตุ๊กตาเจ้าหญิงและเจ้าชาย รวมถึงบริวารต่างๆที่จะถูกเอามาเรียงเป็นชั้น ซึ่งก็แล้วแต่ทุนทรัพย์และพื้นที่ของแต่ละบ้านว่าจะเรียงกี่ชั้น แต่ถ้าจะให้ของครบจริงๆนั้นจะมีถึง 7 ชั้นกันเลย และแต่ละชั้นก็มีของมงคลต่างๆที่สื่อถึงเรื่องสุขภาพ และการเติบโตของเด็กๆวางอยู่ด้วย
นอกจากตุ๊กตาและของมงคลแล้วอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือดอกไม้ ซึ่งดอกไม้ที่ถูกเอามาประดับนั้นหลักๆจะเป็น ดอกท้อ เพราะถือเป็นช่วงเดือนที่ต้นท้อเริ่มออกดอกพอดี และ ดอกท้อเองก็มีความหมายที่สื่อถึงการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากบ้าน การเริ่มต้นฤดู และการนำเอาสิ่งดีๆเข้ามาอีกด้วย
Creditภาพ: https://www.babygoose.jp/media/special/dollfestival/
จนกว่าจะได้พบกันใหม่
แน่นอนว่าตุ๊กตาฮินะนั้นก็มีช่วงเวลาตามธรรมเนียมที่จะต้องถูกเก็บลงกล่อง ถึงจะไม่มีเวลากำหนดแน่นอนว่าจะต้องเก็บวันไหน แต่ส่วนมากแล้วตุ๊กตาฮินะจะถูกตั้งไว้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มาจนถึงหลังวันเด็กผู้หญิง หรือในบางพื้นที่ก็อาจจะตั้งยาวไปถึงเดือนเมษาเลยก็มี อันนี้แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละบ้าน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อแปลกๆที่เล่ากันว่าหากตั้งชั้นตุ๊กตาไว้นานเกินไปก็จะทำให้ลูกสาวแต่งงานช้าลงไปด้วย
ข้อความที่คนในอดีตอยากจะบอก ?
อย่างที่เห็นกันว่าวันเด็กผู้หญิงนั้นมีรายละเอียดเยอะมากๆ และยังมีอีกเยอะที่ไม่สามารถเขียนได้หมด แต่ละส่วนก็ได้แฝงข้อความหรือความหมายในต่างๆเอาไว้ เช่นการตั้งตุ๊กตาเจ้าหญิงไว้นานเกินไปจะทำให้ลูกสาวแต่งงานช้านั้น ถ้าคิดเล่นๆก็อาจจะสื่อถึงการที่พ่อแม่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกสาวไปตามทางของตัวเอง หรือ ห่วงลูกสาวมากเกินไป จนทำให้แต่งงานช้าหรือไม่ได้แต่งก็ได้ หรือถ้ามองอีกมุมการเก็บตุ๊กตาช้าก็อาจจะส่งผลให้ทำตุ๊กตาได้รับความเสียหายหรือขึ้นราจากความชื้นในเดือนเมษาที่มีฝนตกบ่อย หรืออาจจะรวมถึงกุศโลบายง่ายๆอย่างการนำตุ๊กตาฮินะที่ถือว่าราคาสูงมาๆออกมาเรียงอย่างสวยงามและเก็บคืนอย่างระมัดระวังก็เป็นการสอนให้เด็กๆรู้จักความสำคัญของสิ่งของและการดูแลของมีค่าแต่ละชิ้นได้เหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีหลายมุมให้คิดกัน