ตอนที่14 ชินโตและพุทธสองสิ่งที่แยกกันไม่ขาด

ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ศาลเจ้าหรือวัดชื่อดังต่างๆคงจะอยู่ในลิสของใครหลายๆคนอย่างแน่นอน เพราะเป็นสถานที่ที่นอกจากเราจะได้รูปสวยๆไว้โพสต์แล้ว ยังเข้าไปขอพรเสี่ยงเซียมซีไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญ
 
แต่เคยงงกันบ้างไหมว่าตกลงแล้วที่เรามานี่มันวัดหรือศาลเจ้ากันแน่ บางวัดก็มีเสาโทริอิ ส่วนบางศาลเจ้ามีพระพุทธรูปซะงั้น ตกลงต้องใช้หลักอะไรในการแยกทั้งสองอย่างนี้กันแน่ หรือทำไมถึงรวมกันอยู่ได้

 
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพิ่มกันซักนิด

 

 

Photo by Casia Charlie from Pexels

 

อย่างแรก ต้องขอเล่าจากพื้นฐานของชินโต และ พุทธ กันก่อนว่าเข้ามาในญี่ปุ่นได้ยังไงและมีจุดแตกต่างกันยังไงบ้าง

ก่อนที่ศาสนาใดๆจะเข้ามาสู่ญี่ปุ่นนั้น ธรรมชาติถือเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นสมัยโบราณกราบไหว้ บูชา เพราะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากญี่ปุ่นเองก็ขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศที่สุดขั้ว พายุตามฤดูกาล และแผ่นดินไหวที่รุนแรง ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะรับมือได้ จากสิ่งเหล่านี้จึงเกิดเป็นความเชื่อเรื่องเทพเจ้า หรือ จิตวิญญาณที่สถิตอยู่ตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ หรือ ทะเลขึ้นมาและสิ่งนั้นก็คือ ชินโต ซึ่งเป็นหลักความเชื่อแรกที่เกิดขึ้นมาในญี่ปุ่นและเป็นรากทางวัฒนธรรมหลายๆอย่างในเวลาต่อมา

โดยจุดเด่นสำคัญก็คือเสาโทริอิ สีแดงที่เป็นเครื่องหมายแสดงเขตแดนที่สถิตของเทพเจ้าหรือจิตวิญญาณธรรมชาติ และเดิมทีแล้วจะไม่มีการบูชารูปสลักใดๆทั้งสิ้น เพราะธรรมชาติรอบตัวนั้นถือเป็นเทพเจ้าอยู่แล้วนั่นเอง

 

ส่วนอีกด้านศาสนาพุทธนิกายมหายานนั้นเข้ามาในญี่ปุ่นจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในช่วง ศตวรรษที่ 5 - 6 และถูกนับถือเฉพาะชนชั้นปกครองในช่วงแรก จากนั้นได้เริ่มแพร่หลายในอีก100 - 200 ปีหลัง

และได้มีการแบ่งเป็นนิกายย่อยอีกประมาน 13 สาย ซึ่งแต่ละสายก็จะมีแนวทางปฎิบัติที่แตกต่างกันออกไปด้วย

(นิกายเซนที่ทุกคนรู้จักก็เป็นหนึ่งในนั้น)

 

แล้วสองอย่างที่ดูเหมือนจะมีความแตกต่างนี้เข้ามารวมกันให้เรางงได้ยังไงกัน?

 

เรื่องนี้เริ่มมาจากสมัยที่ชนชั้นปกครองในสมัยก่อนต้องการที่จะเผยแผ่พุทธศาสนาให้กลายเป็นกระแสหลักในญี่ปุ่นแทนที่ชินโต เพราะการที่คุมความเชื่อของคนหมู่มากได้นั้นเป็นข้อได้เปรียบหลายๆอย่างไม่ว่าจะเพื่อขยาย อำนาจตัวเองหรือเพื่อเปลี่ยนขั้วอํานาจในสังคมก็ตาม จึงเริ่มมีการที่จะนำเสนอพุทธศาสนาให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชินโตมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการอ้างว่าจริงๆแล้วความเชื่อต่างๆของชินโตนั้นกำเนิดมาจากพุทธศาสนา หรือ เทพของชินโตคือปางต่างๆของพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยสิ่งนี้ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า ชินบุสึชูโก(神仏習合)หรือก็คือการรวมกันของชินโตและพุทธศาสนา

และต่อมาก็ส่งผลทำให้ศาลเจ้าเริ่มมีการบูชาพระพุทธรูปหรือรูปสลักเทพเจ้าที่เป็นตัวเป็นตนมากขึ้นอีกด้วย หรือกลับกันบางวัดก็มีการสร้างโทริอิ หรือบ่อน้ำไว้ให้ล้างมือเหมือนของศาลเจ้าชินโตเช่นกัน

 

Credit:https://www.welcomekyushu.jp/course/modelcourses/detail/219

 

ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้มีแค่คนต่างชาติที่งงกับสิ่งนี้ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็เริ่มแยกไม่ออกเหมือนกัน รวมทั้งฝั่งจักรพรรดิของญี่ปุ่นเองก็เริ่มมีความกังวลว่าศาสนาพุทธที่มาจากฝั่งจีนจะเริ่มมีอำนาจเยอะเกินไป จนทำให้ในสมัยเมจิได้มีการมีการออกนโยบายให้จัดระเบียบและแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงต้องการจะผลักดันให้ชินโตเป็นความเชื่อหลักเหมือนในสมัยก่อน โดยวัดบางที่ก็โดนทำลายและสร้างใหม่ แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ด้วย

 

และนี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงเห็นบางวัดหรือศาลเจ้าที่เป็นลูกผสมกันอยู่บ่อยๆ นั่นเอง และอย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนให้เราเห็นจุดแข็งอีกอย่างของญี่ปุ่นที่ไม่ว่าจะรับสิ่งอะไรใหม่ๆเข้ามาสิ่งเก่าก็ยังถูกให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนได้อยู่ดีและบางทีก็อาจจะผสม ผสานกันอย่างลงตัวเลยทีเดียว