ตอนที่4 กฎโรงเรียนที่เราคุ้นเคยก็มีที่ญี่ปุ่น?

กฎโรงเรียนที่เราคุ้นเคยก็มีที่ญี่ปุ่น?

   ประเด็นเรื่องความเหมาะสมของกฎต่างๆในสถานศึกษาถือเป็นเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ
ไม่ใช่แค่ในประเทศเรา แต่รวมถึงประเทศอื่นๆในเอเชียด้วย ญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

   หากมองโดยผิวเผินโรงเรียนญี่ปุ่นอาจจะมีภาพลักษณ์ที่เป็นสถานที่ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก
และมอบอิสระในการทำสิ่งต่างๆให้นักเรียน แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ

วันนี้เราจะมาพูดถึงกฎต่างๆในโรงเรียนญี่ปุ่นกัน

   ก่อนอื่นเลยผู้เขียนได้มีประสบการณ์ในการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย
และโชคดีที่ได้โรงเรียนที่ได้ไปอยู่นั้นถือว่ามีกฎที่ค่อนข้างโหดและเข้มงวดมากๆ (อาจจะถือเป็นอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้)
จึงจะขอยกทั้งประสบการณ์ตรง และข้อมูลที่หาได้มาเล่าในวันนี้

   ความเข้มงวดกฎในโรงเรียนญี่ปุ่นนั้น โดยส่วนมากจะเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมต้น และมีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้
ถ้าดูทางฝั่งนักเรียนหญิงก็จะมีตั้งแต่ ห้ามย้อมสีผมหรือดัดผม หากผมยาวเกินไหล่จะต้องรัดผม(ในบางโรงเรียนจะห้ามยาวเกินไหล่)
ห้ามใส่เครื่องประดับต่างๆ ยางรัดผมต้องสีเข้มเท่านั้น ห้ามผูกริบบิ้นตอนใส่เครื่องแบบฤดูร้อน เป็นต้น

   ส่วนนักเรียนชายก็จะนอกจากบางส่วนที่เหมือนกับนักเรียนหญิงแล้วก็จะมีอย่างเช่น ห้ามตัดผมทรงสกินเฮด ห้ามกันคิ้ว
หากเป็นชุดกัคคุรันต้องติดกระดุมบน และอื่นๆอีกมากมาย

   โดยกฎพวกนี้ก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรงเรียนและบางที่ก็จะสุดโต่งไปจนถึงห้ามพกมือถือ ต้องทักทายครูทุกครั้งที่เดินผ่าน
หรือแม้กระทั่งกำหนดสีของชุดชั้นในกันเลย… 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนประจำก็มีกฎยิบย่อยต่างๆอีกมากมาย
และบางที่ถึงกับต้องมีสมุดพกเล็กๆ
ที่มีกฎเหล่านี้เขียนไว้ให้นักเรียนอย่างชัดเจนอีกด้วย
(ที่กล่าวมาข้างต้นโรงเรียนที่ผู้เขียนเคยอยู่คือมีเกือบครบ)

   จะเห็นได้ว่าโรงเรียนญี่ปุ่นก็มีมุมแบบนี้อยู่เหมือนกัน และไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆเลย
อีกทั้งบางอย่างก็ไม่สามารถบอกเหตุผลที่แน่ชัดได้ว่าทำไมถึงมีกฎแบบนี้ และเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน

   มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องกับเรื่องนี้ว่า กฎที่ดีควรจะต้องคิดจากจุดยืนและมุมของนักเรียน
ไม่ใช่จากครูเพียงอย่างเดียว และควรจะต้องคำนึงถึง การสร้างความเท่าเทียมในรั้วโรงเรียน และ เพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียน เป็นหลัก
โดยเฉพาะในยุคปัจุบันที่เรื่องเจนเดอร์และสิทธิความเท่าเทียมสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

   อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนจะมีปัญหาแบบนี้ และเริ่มมีกลุ่มคนที่ออกมารณรงค์เพื่อให้แก้ไขปัญหานี้มากขึ้น
เช่น รวบรวมรายชื่อคนที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนหรือกฏต่างๆที่ทำเกินกว่าเหตุ
ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับญี่ปุ่นที่กำลังตื่นตัวเรื่องปัญหาสิทธิต่างๆมากขึ้น

 
เครดิตภาพ https://www.manabinoba.com/agnes/uploads/ec330831f5ef0798a020cebfbdb353ce1a970544.jpg