ตอนที่5 ปัญหาการกลั่นแกล้งที่ไม่หมดไปในสังคมญี่ปุ่น

ปัญหาการกลั่นแกล้งที่ไม่หมดไปในสังคมญี่ปุ่น

    ปัญหาการรังแกกลั่นแกล้ง
กันในสังคมโรงเรียนถือเป็นเรื่องที่พบเห็นกันได้บ่อย และเป็นปัญหา
ที่หลายๆประเทศ
ต้องหาทางรับมือโดยเฉพาะการกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียน

ญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาในด้านนี้ค่อนข้างรุนแรง และ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงดำเนินต่อไปในสังคมญี่ปุ่น
ในวันนี้เราจะมาดูกันว่าอะไรเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ และญี่ปุ่นมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้างในปัจจุบัน

   ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับโครงสร้างของปัญหานี้กันก่อน อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว
จะเกิดจากการที่เยาวชนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกดดัน หรือ ถูกริดรอนสิทธิต่างๆในชีวิต รวมถึงเป็นเหยื่อในการใช้กำลังในครอบครัว
ซึ่งก็อาจจะเกิดจากแรงกดดัน และความเครียดในสังคมญี่ปุ่นจนทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ขึ้นในครอบครัว
และส่งผลไปถึงเยาวชนทำให้ต้องการหาทางออก หรือ ปลดปล่อยความเครียดที่สะสมออกมา

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการหาเหยื่อและระบายออกมาด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว รวมไปถึงการใช้คำพูดที่รุนแรง
เพื่อแสดงอำนาจของตัวเอง หรือ เพื่อทำตัวเองให้เป็นจุดสนใจในหมู่คนรอบข้าง เป็นต้น

อ้างอิงจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ ของญี่ปุ่น
ได้มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างและกระบวนการของปัญหานี้ไว้อย่างน่าสนใจ

นั่นก็คือการแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้กระทำ(いじめる生徒)
2.ผู้ถูกกระทำ(いじめられる生徒)
3.ผู้ชม(観衆)
และสุดท้าย 4. ผู้ที่ไม่อยากเกี่ยวข้อง(傍観者)นั่นเอง

   โดยทั้งกลุ่มที่ 3 และ 4 ก็ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมเช่นกัน เพราะถือเป็นผู้สนับสนุนทำให้เกิดการกลั่นแกล้งต่อไป
หรือ ส่งผลให้การตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ยากขึ้น จากการที่ไม่ยอมให้ข้อมูลทั้งกับผู้ปกครองและครูผู้ดูแล

ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่แก้ไขที่นักเรียนผู้กระทำเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสนใจนักเรียนทั้ง 4 กลุ่ม
และครอบครัวของเด็กไปพร้อมๆกันด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาการกลั่นแกล้งก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
หากดูจากข้อมูลที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น
ได้เปิดเผยออกมานั้น ในปี 2019 ปัญหาการกลั่นแกล้ง
ที่ได้รับการรายงานมามีสูงถึง 610,000 เคสโดยประมาณ สูงกว่าปี 2018 ถึง 68,000 เคส
และมีแนวโน้มที่เหยื่อผู้ถูกรังแกจะมีอายุที่ต่ำลงเรื่อยๆอีกด้วย

แต่ญี่ปุ่นเองก็ได้มีความพยายามจริงจังในการแก้ปัญหาเหล่านี้มาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่
การปรับระบบการทำงานในโรงเรียน
ให้ครูมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนได้
ถ้าหากมีปัญหาก็สามารถแจ้งครูใหญ่หรือครูผู้ที่รับผิดชอบได้ทันที
หรือก็คือการยกระดับปัญหานี้ให้เป็นเรื่องสำคัญในองค์กรนั่นเอง

   นอกจากนี้ก็เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งและให้นักเรียนกล้าที่จะเป็นหูเป็นตากันมากขึ้น โรงเรียนส่วนใหญ่จะมีนโยบาย
ให้ครูประจำชั้นต้องแสดงจุดยืนในการปกป้องนักเรียนอย่างชัดเจนและเปิดโอกาสในการปรึกษาเรื่องต่างๆได้ทุกเวลา
รวมถึงมีการอบรมครูเรื่องการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องหาวิธีแก้ไขกันต่อไป
แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่ดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบ


เครดิตภาพ https://satomi-manga.com/wp-content/uploads/2020/01/eliminate-bullying-icatch.jpg

อ้างอิง
https://resemom.jp/article/2020/10/23/58706.html
https://gooddo.jp/magazine/education/bullying/11802/
https://www.mext.go.jp/content/20191217_mxt_syoto02-000003300_8.pdf